บ้านทองสมสมัย ทองสุโขทัย
ทองคำจัดได้ว่าเป็นหลักทรัพย์ ที่ทุกคนนิยมสะสมเป็นสมบัติส่วนตัวเพราะนอกจากจะมีค่าแทนเงินแล้วทองรูปพรรณยังมีความสวยงาม มีศิลปะอันทรงคุณค่าอยู่ในตัวจากอดีตจนถึงปัจจุบันทองถูกใช้เป็นของกำนัลอันมีค่าที่มอบให้แก่กันในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
ทองสุโขทัยหรือที่ผู้คนทั่วไปนิยมเรียกกันจนติดปากว่า “ ทองโบราณ ” ก็คือทองสุโขทัยที่ทำลวดลายเลียนแบบทองโบราณ โดยใช้ทองเปอร์เซ็นต์สูงถึง 99.99 % ในการผลิตชิ้นงาน และเป็นงานหัตถกรรมที่ผลิตด้วยมือ โดยอาศัยเครื่องมือที่ผลิตขึ้นมาใช้เองอย่างง่าย ๆ ด้วยช่างที่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน
ร้านทองร้านแรกที่ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดรูปแบบทองลายโบราณ หรือ ทองสุโขทัยนั้นก็คือ ร้านทองสมสมัย ก่อนที่จะมาเป็นร้านทองสุโขทัยในปัจจุบันนั้นเล่ากันว่า สมัยก่อนมีช่างชาวจีน 2 คนจากกรุงเทพฯ ชื่อพ้ง กับ ขุ่ย ล่องเรือมาเพื่อหาพื้นที่ตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน โดยใช้ฝีมือด้านการทำทอง ในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ในที่สุดก็ตกลงใจตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ ต. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เนื่องจากช่างชาวจีนนั้นเป็นคนต่างชาติต่างภาษา การจะเข้ามาตั้งหลักปักฐานทำกินในจังหวัดสุโขทัยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนในท้องถิ่น นายเชื้อ วงศ์ใหญ่ คุณพ่อคุณสมสมัยได้เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และในเวลาต่อมาจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาช่างทองจากช่างทองชาวจีนท่านนั้น นายเชื้อใช้เวลาสั่งสมและศึกษาขั้นตอนการทำทองทุกรูปแบบ จนกระทั่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง จึงเปิดร้านทองขึ้นมารับทำทองตามสั่ง และในร้านปัจจุบันนี้ก็คือร้าน ๆ เดียวกับที่เปิดครั้งแรก เมื่อหลายสิบปีก่อน
ช่วงนั้นนายเชื้อจะรับทำทองตามสั่งเพียงอย่างเดียว ยังไม่มีทองรูปพรรณวางจำหน่าย เมื่อลูกค้าต้องการสร้อยสักหนึ่งเส้นก็ต้องนำทองมาสั่งทำ ส่วนรูปแบบที่จะทำจะเป็นแบบเรียบง่ายธรรมดา ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากทองทั่วไปในท้องตลาดยุคนั้น นอกจากกรรมวิธีการผลิตเท่านั้นที่ใช้มือทำขึ้นมาล้วน ๆ โดยอาศัยเครื่องมือง่าย ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เองส่วนเนื้อทองก็ใช้ทอง 96.5 %
ในเวลาต่อมานายเชื้อก็ได้ถ่ายทอดวิชาช่างทองให้แก่คุณสมสมัย ลูกสาวซึ่งเป็นคนรักในงานศิลปะ จนมีความรู้ความสามารถในการทำทองในระยะแรกนั้นคุณสมสมัยได้เริ่มทำทองขายด้วยเงินทุนเพียงทอง 1 บาทเท่านั้น จากนั้นด้วยความมานะพากเพียรเก็บเล็กสะสมน้อยจนเริ่มมีทุนเป็นกอบเป็นกำ การผลิตในช่วงแรกยังเป็นเพียงการทำงานตามสั่งของลูกค้าเท่านั้นไม่มีการขายหน้าร้านเหมือนปัจจุบัน งานทองสุโขทัยเริ่มมีรูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมาเมื่อประมาณสิบปีกว่าที่ผ่านมานี้เอง จากการค้นพบเส้นถักสำริดโบราณที่ลูกค้านำมาให้ทำเลียนแบบ คุณสมสมัยได้ใช้พื้นฐานความรู้เรื่องการทำทองที่สืบทอดมาจากคุณพ่อในการแกะลวดลายออกมาว่าสร้อยเส้นนั้นเริ่มต้นและสิ้นสุดการถักอย่างไร ด้วยความตั้งใจจริงของคุณสมสมัย ที่เพียรพยายามค่อย ๆ แกะลายออกมาทีละปล้องทีละข้อ จนสามารถทราบถึงขั้นตอนในการทำ โดยเริ่มจากการขมวดเส้นทองแล้วเริ่มถักเส้นทองนั้นขึ้นมาจนเป็นเส้นสร้อยซึ่งมีลายใกล้เคียงกับต้นแบบดังกล่าว จากนั้นจึงนำลวดทองไปให้ นายเลื่อน ลอยฟ้า คนในหมู่บ้านซึ่งมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องการจักสานเป็นคนถักเส้นทองนั้น งานสุโขทัยในช่วงแรกๆ นั้นเป็นงานผลิตตามสั่ง กล่าวคือ เมื่อลูกค้าต้องการสร้อยสักเส้นก็จะนำทองมาให้ทำ ทางร้านก็จะคิดเฉพาะค่าแรงเท่านั้น แบบในช่วงแรก ๆ จะมีไม่หลากหลายมากนักจะเป็นเพียงเส้นถักและลูกปะคำติดลายต่าง ๆ ร้อยกับเส้นถักเท่านั้น ในเวลาต่อมาจึงค่อย ๆ พัฒนารูปแบบมีการเดินลายงานฉลุ และลงยา
ในระยะแรกนั้นกลุ่มลูกค้าของทองสุโขทัย คือคนที่สนใจนิยมสะสมของเก่าและชื่นชอบในงานศิลปะ และเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากราคาขายที่สูงกว่าราคาทองปกติ เหตุที่ราคาทองสุโขทัยราคาสูงกว่าทองธรรมดาทั่วไป (ทองตู้แดง 96.5% ) ก็เพราะทองสุโขทัยเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้มือทำขึ้นมาล้วน ๆ ต้องใช้เวลาในการผลิตนานและได้ปริมาณน้อย นอกจากนี้ยังใช้ทองสูง 99.99% เหตุที่ทองสุโขทัยต้องใช้ทองเปอร์เซ็นต์สูงถึง 99.99% นั้นเพราะคุณสมสมัยสังเกตว่างานทองโบราณสมัยเก่าแท้ ๆ ที่ชาวบ้านขุดค้นพบแล้วนำมาให้แก่คุณสมสมัยดูนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นทองเปอร์เซ็นต์สูง สีของทองจะเป็นสีเหลืองจำปา ไม่ใช่เหลืองสีดอกบวบ เหมือนเช่นทองในปัจจุบัน (ทองตู้แดง 96.5 %) คุณสมสมัยคิดว่าถ้านำทองเปอร์เซ็นต์สูงมาใช้ในการผลิต จะทำให้งานทองมีคุณค่าและสวยงามแปลกตา จึงเป็นผู้ริเริ่มนำทอง 99.99% มาผลิตชิ้นงาน เพื่อให้งานมีความสวยงามเช่นทองในสมัยโบราณตั้งแต่นั้นมา
เมื่อทองสุโขทัยเข้าตลาดได้สักระยะหนึ่งจึงเริ่มแพร่หลายและเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้น จากเดิมที่จำกัดกลุ่มเพียงแค่วงแคบ ๆ เฉพาะลูกค้าที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ก็ขยายกว้างออกไป เนื่องจากทองสุโขทัยเป็นงานฝืมือที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวสวยงามแปลกตา และมีรูปแบบหลากหลายแต่ละชิ้นล้วนถูกบรรจงประดิษฐ์ประดอยด้วยฝีมือช่างในท้องถิ่น การผลิตชิ้นงานใช้เวลานานและผลิตได้ปริมาณไม่มากนัก และขณะนั้นช่างฝีมือดีก็มีจำนวนน้อย
จากความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นนี้เอง จึงไม่สามารถที่จะผลิตได้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า เพราะขณะนั้นร้านมีช่างเพียง 4-5 คนเท่านั้น คุณสมสมัยจึงเริ่มคิดที่จะขยายการผลิตโดยการฝึกช่างขึ้นมาเองจากคนในหมู่บ้าน เนื่องจากขณะนั้นเห็นว่าคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีฐานะค่อนข้างยากจนและด้อยการศึกษา ถ้าไม่ช่วยครอบครัวทำไร่ไถนาก็จะเข้าไปทำงานเป็นคนงานตามโรงงานในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จึงมีแต่เพียงเด็กและคนแก่เท่านั้น
ในเวลาต่อมาคุณสมสมัยจึงได้เริ่มสอนเด็กในหมู่บ้านให้รู้จักวิธีการทำทอง ใครอยากเอาลูกหลานมาฝึกก็ฝึกให้ฟรีและมีเงินเดือนให้อีกด้วยเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกจากสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้เป็นสตรีที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีผลงานดีเด่น ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2537
ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วช่างทองจึงเป็นลูกหลานของคนที่นี่ทั้งนั้น จนสามารถพูดได้เต็มปากว่าทุกชิ้นงานเป็นวิญญาณของศรีสัชนาลัยโดยแท้จากช่างรุ่นแรกที่ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สอนรุ่นแรกได้ฝึกฝีมือให้นิ่งพอที่จะเนรมิตงานได้ดั่งใจ โดยมีคุณสมสมัยเป็นผู้คอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาฝีมือและผลงานให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป การทำงานจึงผสานด้วยความอบอุ่นของทุกคนทำให้งานทุกชิ้นออกมาปราณีตบรรจง จนเรียกได้เต็มปากว่างานทองสุโขทัยเป็น “ งานปราณีตศิลป์ “ โดยแท้
เนื่องจากทองสุโขทัยได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้นนี้เอง ทำให้มีผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามมาเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้แรงงานในท้องถิ่นอยู่ มีบ้างบางร้านที่ใช้ช่างทอง ช่างเพชรจากที่อื่น แต่ก็เป็นจำนวนน้อยเท่านั้นแรงงานยังเป็นคนในท้องถิ่นเสียส่วนใหญ่
จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2539 พบว่า มีร้านทองสุโขทัยจำนวนทั้งสิ้นเรียงลำดับได้ดังนี้
1. ร้านทองสมสมัย
2. ร้านทองสมศักดิ์
3. ร้านทองอรอนงค์
4. ร้านทองนันทนา
5. ร้านทองสุภาพร
6. ร้านทองเอกรัช
7. ร้านทองอรพิน
8. ร้านทองนพมาศ
เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ประกอบกับปัญหาในเรื่องการดำเนินงานทำให้บางร้านต้องเลิกกิจการไปส่วนที่ยังเหลือทำอยู่ปัจจุบันจึงมีจำนวนไม่มากนัก หนึ่งในจำนวนนั้นก็มีร้านทองสมสมัยผู้ริเริ่มงานทองสุโขทัยรวมอยู่ด้วย เพราะเชื่อในสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาจากบรรพบุรุษให้แก่ลูกหลานนั่นคือ ความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ ทำให้เราสามารถยืนหยัดและผลิตผลงานที่มีคุณภาพให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของสังคมต่อไป
ขั้นตอนการผลิต
ทองสุโขทัย ศิลปะที่ช่างทองผู้เจนจัดงานศิลป์สุวรรณศาสตร์บรรจงสร้างขึ้นด้วยความเอาใจใส่ ประดิดประดอยประดับลวดลายอันสุดแสนวิจิตร
แบบใดๆ ก็เนรมิตได้ดั่งใจฝันด้วยจิตวิญญาณของช่างทองไทย คุณค่าที่ได้รับมิใช่เพียงมูลค่าแห่งทองคำเนื้อนพคุณ 99.99%
แต่ทรงคุณค่าแห่งงานประณีตศิลป์ประดับเรือนกายอันงดงามข้ามกาลเวลา อีกทั้งยังต่อยอดภูมิปัญญาล้ำค่าสู่งานพุทธศิลป์ตามที่ผู้มีศรัทธาแรงกล้า
มีจิตเจตนาถวายเป็นพุทธบูชา งานทุกชิ้นงดงามล้ำเลอค่าควรประดับไว้อยู่คู่แผ่นดินสยาม ด้วยนิยามเครื่องทองพรรณรายประดับจิตวิญญาณไทย